กิจกรรมนักศึกษา

กิจกรรมเสริมในหลักสูตร

หลักสูตรสัตวศาสตร์มีการจัดกิจกรรมเสริมในหลักสูตรเพื่อส่งเสริมให้นักศึกษามีความสมบูรณ์พร้อมทั้งวิชาการ และวิชาชีพ เปิดโลกทัศน์ ตลอดจนเสริมสร้างนิสัยการเรียนรู้โดยเน้นการปฏิบัติจริง รวมทั้งเพิ่มประสบการณ์การเรียนรู้ด้วยตนเอง ผ่านกิจกรรมเสริมในหลักสูตรฯ ตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 – 4 ดังนี้

ปี 1

นักศึกษาชั้นปีที่ 1

การฝึกประสบการณ์ภายในฟาร์มคณะสัตวศาสตร์ฯ
ปี 2

นักศึกษาชั้นปีที่ 2

การฝึกประสบการณ์ที่หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับทางสัตวศาสตร์
ปี 3-4

นักศึกษาชั้นปีที่ 3-4

แผนที่ 1

สหกิจศึกษา
(Co-operative Education)

แผนที่ 2

จุลนิพนธ์
(Senior Project)

แผนที่ 3

การเรียนรู้ในสถานประกอบการ
(Work Integrated Learning, WIL)

กิจกรรมฝึกประสบการณ์ของนักศึกษาชั้นปีที่ 1

วัตถุประสงค์หลักของการฝึกงานของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 คือเพื่อให้นักศึกษามีความรู้และทักษะเบื้องต้นในการผลิตสัตว์ ดังนั้นจึงมีการจัดการเรียนการสอนภายในฟาร์มคณะสัตวศาสตร์ฯ โดยให้นักศึกษาแบ่งเป็นกลุ่ม เพื่อปฏิบัติงานตามหน่วยการผลิตสัตว์ ได้แก่ หน่วยการผลิตสัตว์ปีก สุกร โคเนื้อ-โคนม แพะ และพืชอาหารสัตว์ ซึ่งมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละหน่วยการผลิตสัตว์เป็นผู้ให้ความรู้และควบคุมการฝึกปฏิบัติงาน เมื่อสิ้นสุดการฝึกปฏิบัติงานนี้ นักศึกษามีความรู้ และความเข้าใจในระบบการผลิตสัตว์ต่างๆ เบื้องต้น

กิจกรรมฝึกประสบการณ์ของนักศึกษาชั้นปีที่ 2

การฝึกงานภาคสนามของนักศึกษาชั้นปีที่ 2 ทุกคน ในช่วงปิดภาคการศึกษาต้น ณ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับงานทางด้านสัตวศาสตร์ เช่น ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ตามจังหวัดต่างๆ, ศูนย์วิจัยและพัฒนาโคนม หรือศูนย์วิจัยและพัฒนาสุกร เป็นต้น ซึ่งวัตถุประสงค์ของการฝึกประสบการณ์ครั้งนี้คือการเพิ่มทักษะทางวิชาชีพด้านปศุสัตว์ให้กับนักศึกษา และทำให้นักศึกษาเรียนรู้ระบบการทำงานของหน่วยงานราชการโดยหลังจากเสร็จสิ้นการฝึกงานดังกล่าว นักศึกษาต้องมานำเสนอความรู้และประโยชน์ที่ได้รับจากการฝึกงานในครั้งนี้

แผนการศึกษาของนักศึกษาชั้นปีที่ 3 - 4

แผนที่ 1 สหกิจศึกษา (Co-operative Education)

แผนนี้เป็นการปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการของนักศึกษาชั้นปีที่ 3 และ 4 ในหน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้องกับด้านสัตวศาสตร์ในภาคการศึกษาปลายเป็นระยะเวลา 4 เดือน โดยในชั้นปีที่ 3 เน้นการปฏิบัติงานในสถานประกอบการเอกชนเพื่อเรียนรู้ทักษะการทำงานในสถานจริง ส่วนชั้นปีที่ 4 เป็นการต่อยอดเพื่อเพิ่มประสบการณ์การทำงานในสถานประกอบการและชนิดสัตว์เศรษฐกิจที่สนใจเป็นพิเศษ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การทำงานจริง โดยการปฏิบัติงานสหกิจทั้ง 2 ครั้งนักศึกษาจะต้องทำงานวิจัยร่วมกับสถานประกอบการ พร้อมนำเสนอผลงานวิจัยและส่งรายงานงานวิจัยภายหลังสิ้นสุดการปฏิบัติงาน

แผนที่ 2 จุลนิพนธ์ (Senior Project)

แผนจุลนิพนธ์นี้เป็นการเพิ่มทักษะการทำงานวิจัยให้กับนักศึกษาซึ่งต้องการที่จะเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นหรือต้องการทำงานทางด้านงานวิจัยในอนาคต โดยนักศึกษาทำงานวิจัยในหัวข้อเรื่องที่ตนเองสนใจภายใต้การควบคุมของอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ วัตถุประสงค์หลักของการทำจุลนิพนธ์คือทำให้นักศึกษามีการเรียนรู้ขั้นตอนการทำงานวิจัย สามารถคิด วิเคราะห์ หรือสังเคราะห์งานวิจัยของตนเอง โดยก่อนทำการทดลอง นักศึกษาต้องมีการนำเสนอโครงร่างงานวิจัยของตนเอง และเมื่อสิ้นสุดการทดลองนักศึกษาต้องรายงานผลการทดลอง การวิเคราะห์ และการอภิปรายผลการทดลองตามหลักวิชาการ  โดยในแผนนี้นักศึกษายังคงได้ปฏิบัติสหกิจในสถานประกอบการเป็นระยะเวลา 4 เดือน ในปีการศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาคการศึกษาต้น

แผนที่ 3 การเรียนรู้ในสถานประกอบการ (Work Integrated Learning, WIL)

แผนการเรียนรู้ในสถานประกอบการคล้ายคลึงกับแผนสหกิจศึกษา คือปฏิบัติงานในสถานประกอบการจำนวน 2 ครั้ง ในชั้นปีที่ 3 และ 4 ภาคการศึกษาปลาย แต่แตกต่างตรงที่นักศึกษาจะต้องลงทะเบียนเรียนรายวิชาที่หลักสูตรกำหนดร่วมกับสถานประกอบการโดยสถานประกอบการจะเป็นผู้สอน ทำให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้ในสถานประกอบการที่แท้จริง และทำให้นักศึกษามีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านตรงตามที่สถานประกอบการต้องการ

การฝึกงานต่างประเทศผ่านรายวิชาสหกิจศึกษา

นักศึกษาสามารถเลือกไปฝึกงานต่างประเทศได้ ตามความสมัครใจ โดยนักศึกษาต้องผ่านคุณสมบัติเบื้องต้น เช่น ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร การฝึกงานต่างประเทศเป็นการเพิ่มประสบการณ์การเรียนรู้การทำงาน การปรับตัว ความแตกต่างทางวัฒนธรรม และได้รับประสบการณ์ดีๆจากต่างประเทศ รวมทั้งการใช้ชีวิตในต่างแดน ซึ่งประเทศที่ทางสาขาสัตวศาสตร์มีการส่งไปฝึกงานมีหลายประเทศด้วยกัน ได้แก่ ญี่ปุ่น ไต้หวัน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ซึ่งในอนาคตจะมีการขยายไปยังประเทศอื่นๆด้วย